อาชีวะโชว์ผลงานนักศึกษา

กระทู้สนทนา
ประเทศที่เจริญส่วนใหญ่มีทรัพยากรบุคคล ที่มีคุณภาพแรงงานที่มีฝีมือ ชำนาญ ปฏิบัติงานได้จริงอันนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลงาน สินค้าและบริการต่างๆ อาชีวศึกษา ถือเป็นสถาบันการศึกษาหลักในการพัฒนาคน สร้างงาน สร้างอาชีพที่มีคุณภาพตอบสนองความต้องการของตลาดแรงงาน มีความคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ ถ่ายทอดอาชีพจากตำราสร้างโอกาส สร้างรายได้ให้แก่ประชาชนงาน สัปดาห์ของขวัญ ผลิตภัณฑ์อาชีวะ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา เมื่อวันที่ 3-7 ธันวาคม เป็นอีกหนึ่งเวทีที่การันตีถึงศักยภาพนักศึกษา บัณฑิตอาชีวะที่มีทักษะฝีมือดีเยี่ยม

                แม้เพิ่งเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) "อ้อม" สิรินยา พุกทอง  นักเรียนปวช.ปีที่ 1 แผนกคอมพิวเตอร์ วิทยาลัยการอาชีพเนินขาม จ.ชัยนาท ที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นครั้งแรก ถ่ายทอดความรู้ ประสบการณ์อาชีพ ในกิจกรรม 108 อาชีพ สอนเย็บกระเป๋าให้แก่ผู้ที่สนใจ ตามรูปแบบการเรียนอาชีวะเน้นฝึกปฏิบัติ ทำงานในสาขาวิชาที่เรียน และอาชีพเสริมสร้างรายได้ให้แก่ตนเอง พร้อมนำความรู้เผยแพร่ผู้อื่น ที่เลือกเรียนอาชีวะ เพราะชอบลงมือปฏิบัติมากกว่าท่องจำ แถมยังเปิดโอกาส ให้ได้ทำงานสร้างรายได้ระหว่างเรียน แบ่งเบาภาระของพ่อแม่ และรู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ซึ่งอาชีพเสริม การเย็บกระเป๋า ยังช่วยให้เราได้แสดงคุณค่างานฝีมือให้เกิดประโยชน์แก่ผู้อื่นได้

               เช่นเดียวกับ "ดาว" สุธิตา ชนะคุ้ม นักเรียน ปวช.ปีที่ 2 แผนกงานช่างทองหลวงกาญจนาภิเษกวิทยาลัยช่างทองหลวง และ "ราม" ศรัณย์ ยอดคำ นักเรียน ปวช.ปีที่ 3 แผนกเครื่องเคลือบดินเผา วิทยาลัยอาชีวลำปาง ที่หลงใหลงานศิลปะ เล่าว่า งานช่างทองหลวง เป็นงานศิลปะที่ได้รับความสนใจเรียนจากเด็กน้อยมาก เพราะส่วนใหญ่จะสนใจงานอัญมณี เครื่องประดับ ทั้งๆ ที่ช่างทองหลวง เป็นงานศิลปะจุดเริ่มต้นของงานอื่นๆ ได้ ไปทำงาน หรือเรียนต่อในสายอัญมณี หลังเรียนจบ ดาวตั้งใจว่าจะสืบทอดกิจการที่บ้านญาติ หรือเปิดร้านของตัวเอง เพื่อที่จะได้ช่วยอนุรักษ์ ซ่อม สร้างและสืบสานศิลปวัฒนธรรมของชาติ

               ส่วน ราม มองว่า ใครที่เรียนอาชีวะ ไม่ตกงานแน่ เพราะภาคอุตสาหกรรม เช่น เซรามิก เครื่องปั้นดินเผา ล้วนต้องการบุคลากร ช่างฝีมือไปทำงาน วิทยาลัยของอาชีวะ เน้นการฝึกงาน ให้เด็กได้ลองทำ เรียนรู้จากการทำงานจริงๆ เพื่อเป็นการเปิดประสบการณ์ชีวิต สร้างรายได้ และเปิดโอกาสให้นักศึกษาได้แสดงฝีมือของตนเอง เขาอยากมีกิจการร้านขายเซรามิค เครื่องปั้นดินเผา ที่คิดเอง ทำเอง ผลิตเอง โดยบูรณาการความทันสมัย และความเป็นไทยเข้าด้วยกัน

               อาจารย์ขวัญเรือน อุดมนาม อาจารย์สอนบริหารธุรกิจ วิทยาลัยอาชีวะมหาสารคาม บอกว่า ปัจจุบันอาชีวะไปฝึกงานในภาคอุตสาหกรรม โรงแรม สถานประกอบการ สามารถทำงานได้ทันที พยายาม สอนเสริมหลักสูตรต่างๆ ฝึกอบรมนักศึกษาให้เป็นบัณฑิตที่จบไปอย่างมีความรู้ ทักษะทุกด้าน อยากฝากนักเรียนที่ต้องการเรียนรู้จากตำราด้วย ทำงานจริง ทำงานเป็น มีอาชีพของตัวเอง ให้ลองมาดูหลักสูตร การเรียนการสอนอาชีวะ ไม่ได้เน้นเพียงสอนให้เด็กทำงานเป็นเท่านั้น แต่ปลูกฝังให้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสืบสานศิลปวัฒนธรรมไทย เป็นผู้สร้าง ผู้ให้ และผู้คิด

               อ.มงคล สาระพางค์ หัวหน้าแผนกสาขางานช่างทองหลวง อาจารย์ของน้องดาว เล่าว่า การเรียนสายช่าง ถ้าไม่เลือกงาน การันตีได้ว่าเด็กมี ยิ่งตอนนี้หลักสูตรมีการปรับปรุงให้นักศึกษาคิด และลงมือทำ พวกเขาจะได้ลองผิดลองถูก และก่อนจะจบการศึกษา พวกเขาต้องผ่านการทำงานภาคปฏิบัติ ที่ไม่ใช่เฉพาะการเรียนรู้ แต่ต้องสอบผ่านด้วย

               เรณู ฉัตรธง และครอบครัว ที่ได้มาเดินเที่ยวงานสัปดาห์ของขวัญเป็นครั้งแรก เล่าว่า ได้เห็นการเรียนการสอน การทำงาน ทักษะฝีมือของเด็กอาชีวะ ลบภาพนักศึกษาอาชีวะตีกันที่เคยเห็นไปหมดเลย อนาคตหากลูกชายทั้ง 2 คนอยากเรียนอาชีวะ คงรู้สึกดีใจไม่น้อย และคงไม่ห้าม เพราะจากการได้พูดคุยกับเด็กๆ และได้เห็นใบหน้าความสุขเวลาพวกเขาได้สร้างสรรค์ผลงาน พวกเขามีความคิดเป็นผู้ใหญ่ และยังรู้จักนำความรู้มาถ่ายทอดแก่ผู้อื่น เพื่อให้ทุกคนได้มีอาชีพเสริม มีรายได้เป็นของตนเอง รู้จักใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ ทำงานเป็น คิดเป็น และแบ่งปันให้แก่ผู้อื่นได้ คงจะสามารถมีอาชีพเลี้ยงตัวเองอยู่รอดในสังคมได้เช่นกัน

              ..............................................
(อาชีวะโชว์ของดีนักศึกษา จากสถานศึกษาสู่อาชีพ : คอลัมน์เปิดโลกเรียนรู้ : โดย...ชุลีพร อร่ามเนตร )

คมชัดลึก

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่