นายบำรุง ศรีงาน อดีตประธานชมรมไทย VI กับการลงทุนที่ผิดพลาดหรือเปล่า ติดดอยหุ้นตัวนี้มาเกือบ 2 ปีแล้ว ต้นทุนดอยสูงลิ่ว

กระทู้สนทนา
ประสบการณ์ของ นักลงทุนผู้ยิ่งใหญ่ (น.พ.บำรุง ศรีงาน)

วินาทีนี้  คงไม่มีใครไม่รู้จัก น.พ.บำรุงศรีงาน หรือ หมอแพะ หรือ พี่หมอสามัญชน


ความประทับใจ ในท่านนี้คือ ผมได้เคยดูมุมมองตอนหุ้น PDI  เป็นครั้งแรกที่ ผมได้เรียนรู้วิถี แห่งคอมโม ว่า  มันต้องดูยังไง ว่าเขื่อนแตก

ลองมาดูชีวิตพี่หมอกัน

เปิดใจ 'หมอสามัญชน' ประธานชมรมไทยวีไอดอทคอม จากเงินก้อนแรก 1.4ลบ. ผ่านไป 9ปี พอร์ตหุ้นทะยานแตะระดับ 'ร้อยล้าน' เขาทำได้ คุณก็ทำได้


ใครๆ ก็ยากรวยจากตลาดหุ้น แต่ใช่ว่าใครๆ ก็รวยได้ อดีตผู้อำนวยการโรงพยาบาลอำเภอในจังหวัดบุรีรัมย์ เริ่มต้นคิดถึงอนาคตในวันข้างหน้าของ "ครอบครัวศรีงาน" เขาตัดสินใจนำเงินเก็บก้อนเล็กๆ ที่ทำงานรับใช้คนไข้มาตลอด 7 ปี รวมกับเงินกู้สหกรณ์อีกก้อนหนึ่ง เริ่มเพาะต้นกล้าการลงทุนตามแนวทางแวลูอินเวสเตอร์โดยมีอนาคตลูกน้อยอีก 3 ชีวิตเป็นเดิมพัน    

เวลาผ่านไป 9 ปี มหัศจรรย์ของการลงทุนแบบ "ทบต้น" และการทุ่มเทค้นหาเส้นทางแห่งความสำเร็จ ทำให้หมอบ้านนอกประกาศอิสรภาพทางการเงิน เป็น "นาย" ของเงินนับ "ร้อยล้านบาท" ในปัจจุบัน และใช้เงิน "ทำงาน" ราวกับเครื่องจักรอันทรงพลัง ทั้งยังแบ่งปันความรู้จนเป็นที่นับถือของพี่น้องชาวไทยวีไอดอทคอม ในฐานะ.."พี่หมอสามัญชน"

กลุ่มนักลงทุน "ไทยวีไอ" ที่ก่อตั้งโดยแกนนำอย่าง ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร  ธันวา เลาหศิริวงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ไอบีเอ็ม ประเทศไทย ฯลฯ เป็นผู้นำแนวคิดของปรมาจารย์การลงทุนหุ้นคุณค่าระดับโลกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์  เบนจามิน เกรแฮม  ปีเตอร์ ลินช์ มาปรับใช้กับการลงทุนแบบไทยๆ ได้อย่างลงตัว จนเกิดนักลงทุนทางเลือกที่เลือกเดินบนเส้นทางสายนี้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัจจุบัน นพ.บำรุง ศรีงาน เป็นประธานชมรม "ไทยวีไอ" ที่หันเหชีวิตมาเป็นนักลงทุนเต็มเวลา ส่วนตัวเขาเริ่มไต่ระดับพอร์ตหุ้นจากหลัก "ล้านบาท" สู่ระดับ "ร้อยล้านบาท" จากการเข้าลงทุนในหุ้นโรงพยาบาลรามคำแหง (RAM) โรงพยาบาลไทยนครินทร์ (TNH)  ไอที ซิตี้ (IT)  ผาแดงอินดัสทรี (PDI) เอสทีพี แอนด์ ไอ (STPI) สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี (SAT) และไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า (STANLY) บางตัวมีกำไรหลายร้อยเปอร์เซ็นต์

กรุงเทพธุรกิจ BizWeek มีนัดพูดคุยกับคุณหมอสามัญชนที่โครงการบ้านจัดสรรแห่งหนึ่งย่านดอนเมือง คุณหมอนักลงทุน เปิดฉากชีวิตก่อนจะมาถึงจุดนี้ให้ฟังว่า ตอนนั้นเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ แม้จะมีรายได้ค่อนข้างดีกว่าอาชีพอื่นแต่เริ่มมีความคิดว่าอายุเราก็เพิ่มขึ้น ความสามารถในการทำงานย่อมลดลง แต่ภาระค่าใช้จ่ายเริ่มมากขึ้นเพราะลูกทั้งสามคนโตขึ้นทุกวัน จึงตัดสินใจมองหาอาชีพเสริมตอนนั้นคิดจะเปิดร้านเซเว่นอีเลฟเว่น

"แต่หลังจากไปฟังสรุปข้อมูลจากทางบริษัทคิดว่าไม่คุ้มค่าเพราะต้องลงไปบริหารร้านเองด้วย ต่อมามีโอกาสได้อ่านหนังสือ  พ่อรวยสอนลูก ของโรเบิร์ต คิโยซากิ จับใจความสำคัญได้ว่าเราสามารถใช้เงินให้ทำงานได้ จึงเริ่มวางแผนที่จะนำเงินเก็บที่มีอยู่ 400,000-500,000 บาท จากการทำงานมาตลอด 7 ปี บวกกับกู้เงินสหกรณ์อีก 1,000,000 บาทนำไปลงทุน โดยไม่คิดฝากเงินในธนาคารเพราะตอนนั้น (ช่วงปี 2545) ดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ที่ 1% ต่ำมาก"

ตอนนั้นในหัวคุณหมอคิดถึงทฤษฎีของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ที่พูดถึงสิ่งมหัศจรรย์ "อันดับแปด" ของโลกนั่นคือ ดอกเบี้ยทบต้น ถ้าเราสามารถสร้างผลตอบแทนได้ปีละ 10% ทุกปี ตลอดระยะเวลา 20-30 ปีต่อเนื่อง ผลตอบแทนจะเพิ่มขึ้นสูงมากอย่างไม่น่าเชื่อ

"จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นหลังได้เห็นโฆษณาขายหุ้นไอพีโอ ปตท. (PTT) แล้วเขาชูเรื่องจ่ายเงินปันผล 7% เยอะกว่าฝากเงินมากเลยตัดสินใจเปิดพอร์ตเดี๋ยวนั้นเลยกับ บล.เกียรตินาคิน"

ก้าวแรกในการลงทุนของคุณหมอยังไม่ประสบความสำเร็จเพราะขาดประสบการณ์และความรู้ยังไม่แน่น เริ่มซื้อหุ้นชุดแรก เช่น ซีเฟรชอินดัสตรี (CFRESH) เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ลานนารีซอร์สเซส (LANNA) ผ่านไปประมาณครึ่งปีขาดทุนไป 400,000 บาท

"เหตุผลที่ซื้อหุ้นตอนนั้นเพราะโบรกเกอร์บอกว่าหุ้นกลุ่มเกษตรจ่ายปันผลดีกว่า ปตท. มาขาดทุนหุ้น CFRESHเพราะดูงบการเงินในอดีตและปัจจุบันมันดี แต่ลืมดูแนวโน้มในอนาคต (จากที่คิดว่าถูกก็เลยกลายเป็นแพง)"

เมื่อไม่ประสบความสำเร็จก็ต้องหาความรู้เพิ่มเติมจนได้มาอ่านหนังสือ "ตีแตก" ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร มาช่วยเติมเต็มความรู้ สิ่งที่ได้เรียนรู้มากขึ้นจากหนังสือตีแตกสิ่งที่ ดร.นิเวศน์ ชี้ให้เห็นความแตกต่างระหว่างการเป็น "เจ้าของกิจการ" กับการเป็น "นักลงทุน"

ข้อดีของการเป็นนักลงทุนคือเราสามารถเลือกซื้อหุ้นในช่วงเวลาที่ราคาต่ำกว่าความเป็นจริงได้รวมถึงสามารถเลือกขายออกไปในราคาที่มากกว่ามูลค่าทางบัญชีได้ด้วย แต่ถ้าเป็นเจ้าของหุ้นก็ต้องกอดหุ้นตัวนั้นไปตลอดไม่ว่าธุรกจะดีหรือไม่ดี

นอกจากนี้ เราสามารถเป็นเจ้าของธุรกิจระดับประเทศได้โดยที่ไม่ต้องลงไปสร้างเองกับมือ คนทั่วไปคงไม่มีเงินเป็นร้อยล้าน เป็นพันล้าน หรือหมื่นล้าน

"ผมเป็นข้าราชการกินเงินเดือน คงไม่มีเงินไปลงทุนธุรกิจใหญ่เองได้ แต่การเป็นนักลงทุนทุกอย่างเปิดโอกาสให้เราได้หมด หนังสือตีแตกยังสอนให้รู้จักการอ่านงบการเงินอย่างถูกต้องด้วย"

ปีที่สองของการลงทุน...กำไรเกือบ 3 ล้าน

พอในปี 2546 หมอบ้านนอกได้ค้นพบหนทางแห่งความร่ำรวยจากการใช้เงินทำงานตามแนวคิดของโรเบิร์ต คิโยซากิ และตีแตกแบบ ดร.นิเวศน์

ปีที่สองของการลงทุน ดัชนีตลาดหลักทรัพย์เริ่มปรับตัวขึ้นจากจุดต่ำสุดที่ 323 จุด (ปี 2545) ทะยานขึ้นไป 802 จุด (ปี 2546) ในยุคที่ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร กำลังท็อปฟอร์ม พอร์ตของ นพ.บำรุง ก็โตขึ้นมากกว่า 100% ด้วย ปีนั้นสามารถทำกำไรได้เกือบๆ 3,000,000 บาท แต่ปีถัดไปพอร์ตกลับมา "ติดลบ" อีกครั้ง หลังในปี 2547 ดัชนีดิ่งลงมาต่ำสุด 576 จุด เพราะปีก่อนขึ้นไปมากเกินไป รู้ซึ้งสัจธรรมตลาดหุ้นมีขึ้น-มีลง ขึ้นมากได้ก็ลงมากได้เช่นกัน และไม่มีหุ้นอะไรที่ดีตลอดไป

คุณหมอบอกว่า สาเหตุที่ได้กำไรในปี 2546 มาก มาจากภาพรวมดัชนีที่ปรับตัวขึ้นไปมาก แท้จริงแล้วไม่ได้มาจากความรู้ที่แท้จริง ทำให้ต้องเริ่มต้นหาแนวทางการลงทุนของตัวเองใหม่อีกครั้งเพื่อไม่ให้ขาดทุนอีก

จุดเปลี่ยนในฐานะแวลูอินเวสเตอร์อย่างเต็มตัวเกิดขึ้นจากการที่คุณหมอเริ่มเข้าไปพูดคุยในเว็บบอร์ด ไทยวีไอดอทคอม เป็นจุดหักเหทำให้เกิดการพัฒนาแนวคิดการลงทุนเชิงบูรณาการมีการแลกเปลี่ยนแนวคิดกับเพื่อนนักลงทุน "รู้เขา-รู้เรา" ไม่ได้คิดเองคนเดียว จนถึงปีที่ห้าของการลงทุนเริ่มกลับมาได้กำไรประมาณ 20-30%

ถึงตรงนี้หมอบำรุงเริ่มอธิบายสไตล์การลงทุนของตัวเองให้ฟังว่าคล้ายๆ แต่ไม่เหมือนกับแนวทางของ ดร.นิเวศน์ที่ยึดหลักของวอร์เรน บัฟเฟตต์ คือค้นหา "หุ้นสุดยอด" (Great Stock) ที่มีความสามารถในการแข่งขันที่ยั่งยืนและอยู่กับมันให้นานที่สุด แต่วิธีการของหมอบำรุงจะค่อนไปทาง ปีเตอร์ ลินช์ และแนวทางของ เบนจามิน เกรแฮม ต้นตำรับการลงทุนแนววีไอ

ปีเตอร์ ลินช์ +เกรแฮม = หมอบำรุง

นพ.บำรุง บอกว่าถ้าเป็นแนวคิดของเบนจามิน เกรแฮม จะค้นหาหุ้นที่มีทรัพย์สินมากแต่ราคาถูก แต่ของปีเตอร์ ลินช์ จะเน้นลงทุนหุ้นวัฏจักร (Cyclical Stock) หุ้นเติบโต (Growth Stock) และหุ้นเทิร์นอะราวด์ (Turnaround) ในประเทศไทยหาหุ้นแบบวอร์เรน บัฟเฟตต์ ที่มีศักยภาพการแข่งขันที่ยั่งยืนยาก และส่วนตัวมองธุรกิจกลุ่มนี้ได้ไม่ค่อยทะลุปรุโปร่ง (เหมือน ดร.นิเวศน์) จึงเดินตามแนวทางที่ "ใช่" กับตัวเองมากกว่า

แม้แวลูอินเวสเตอร์ในประเทศไทยจะมีหลายแขนง (วอร์เรน บัฟเฟตต์, ปีเตอร์ ลินช์, จอห์น เนฟฟ์, ฟิลลิป ฟิชเชอร์ ฯลฯ) แต่แก่นของแนวคิดนี้มีอยู่ข้อเดียวคือ ราคาต้อง Under Value เมื่อเทียบกับความสามารถในการทำกำไรในอนาคต 2-3 ปีข้างหน้า ในแง่ราคาหุ้นจะต้องมีค่าพี/อี เรโช ต่ำ ยิ่งต่ำมากระดับเลขตัวเดียวหรือถ้าอยู่ที่ 3-4 เท่าได้จะดีมาก ข้อระวังคือต่อให้ราคาถูกมากแต่ไม่สามารถประเมินกำไรในอนาคตได้อย่างนี้ก็ "ไม่ควรซื้อ"

ถ้าเป็นหุ้นเติบโตค่อนข้างดูง่ายเพราะสามารถอ่านจากบทวิเคราะห์ของโบรกเกอร์ได้และดูแนวโน้มของอุตสาหกรรมนั้นๆ ประกอบกันก็พอมองออก ที่ต้องระวังคือความเห็นของผู้บริหารควรต้องมีความเป็นไปได้คู่กับงบการเงินที่เติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ถ้าเป็นหุ้นเทิร์นอะราวด์จะดูยากที่สุด ขอให้โฟกัสไปที่ผู้บริหารเป็นหลักว่ามีความสามารถในการบริหารเพียงใด ถ้าย้อนไปดูสาเหตุที่บริษัทตกต่ำแล้ววิเคราะห์ให้ได้ว่าเขาจะสามารถนำธุรกิจกลับมาได้หรือไม่

ส่วนหุ้นวัฏจักรส่วนมากจะเป็นธุรกิจเดิมๆ อย่างเช่นธุรกิจเกษตรซึ่งมีวงจรสั้นที่สุด ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์จะเป็นระยะกลาง ส่วนตัวจะชอบหุ้นที่มีวัฏจักรระยะยาว 10 ปี และจะเลือกซื้อตอนที่ธุรกิจอยู่ในช่วงสุดท้ายของ "ขาลง" และถ้ากลับมาเป็น "ขาขึ้น" ได้จริง ผลตอบแทนจะสูงมาก

ข้อแตกต่างระหว่างหุ้นเติบโตกับหุ้นวัฏจักร ถ้าเป็น Growth Stock ส่วนใหญ่รายได้จะเติบโตประมาณ 10% ขึ้นไป และลูกค้าจะหมุนเวียนเข้ามาใช้บริการต่อเนื่องอย่างเช่นหุ้นกลุ่มค้าปลีก แต่ถ้าเป็น Cyclical Stock รายได้จะโตมากกว่านั้น แต่ลูกค้าใช้บริการครั้งเดียวแล้วหยุดเลยอย่างเช่นพวกบ้านจัดสรร ปีนี้อาจจะดีแต่ปีหน้าไม่รู้แล้ว การคาดเดายากกว่าแต่ก็เป็นโอกาสให้เรามองเห็นช่องที่จะลงทุนได้

"ทุกครั้งหลังวิกฤติธุรกิจยานยนต์และอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาเสมอเพราะรัฐบาลจะเข้ามาอุ้มเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ อีกอย่างรถยนต์ตอนนี้เป็นปัจจัยที่ห้าไปแล้ว" หมอสื่อว่าถ้าเรารู้จักสังเกตจะได้กำไรจากวิกฤติอย่างมาก

โฟกัสหุ้น 4 ตัว แทงหนักตัวที่ชอบ

วิธีการเลือกหุ้นของหมอบำรุงจะเลือกแบบโฟกัสหุ้นเพียง 4 ตัว แในพอร์ตจะแบ่งเงินไม่เท่ากันจะใช้วิธีจัดอันดับและใส่เงินในหุ้นที่ "ชอบที่สุด..มากที่สุด" โดยจะดูที่ปัจจัยพื้นฐานก่อนว่าทำธุรกิจอะไร มีข้อได้เปรียบอะไรบ้าง จุดแข็งคืออะไร วิเคราะห์ SWOT (จุดแข็ง-จุดอ่อน-โอกาส-อุปสรรค) ด้วย

หมอเลือกที่จะใช้เวลาในการวิเคราะห์ธุรกิจอย่างหนักในตอนแรกเพื่อที่จะสบายในตอนหลัง โดยเฉพาะงบการเงินจะบอกถึง สุขภาพ ของบริษัทนั้นๆ ได้ดีที่สุดว่าคนคนนั้นอ่อนแอหรือแข็งแรง เก่งหรือไม่เก่ง เหมือนกับการวินิจฉัยโรคตามแนวทางของแพทย์

ในงบการเงินสิ่งที่หมอย้ำให้ต้องอ่านอันดับแรกคือ "ความเห็นผู้สอบบัญชี" ว่ามีคอมเมนท์พิเศษที่ไม่ดีหรือเปล่า ถ้าเกินสามย่อหน้า (ตามมาตรฐานบัญชี) นี่ต้องระวังแล้ว

"ช่วงปีแรกๆ ผมไปซื้อหุ้นรอยเนท (ผู้บริหารแต่งบัญชี) เพราะดูแค่งบบรรทัดสุดท้ายกำไรสวยอย่างเดียวลืมดูความเห็นผู้สอบบัญชีที่บอกว่าไม่สามารถออกความเห็นได้ ปรากฏว่าจากนั้นขาดทุนมาตลอด"

ต่อมาคือการประเมิน "ผลกำไรในอนาคต" นักลงทุนควรให้ความสำคัญมากกว่าไปตามข่าวในห้องค้าอย่างเช่นจะแจกวอร์แรนท์ เพิ่มทุน ควบรวมกิจการ บางทีก็พิสูจน์ไม่ได้ แต่ถ้าเราประเมินกำไรในอนาคตได้ยังไงก็ไม่ขาดทุน แต่ขอให้คิดแบบอนุรักษนิยมไว้บ้างอย่าคิดเข้าข้างตัวเองมากไป

ที่สำคัญที่สุดคือ "ราคา" หรือ "Valuation" ว่าถูกหรือไม่ ไม่มีประโยชน์ที่จะซื้อหุ้นแพงแม้ว่าจะดีแค่ไหนเพราะเราจะไม่ได้กำไรแถมอาจขาดทุนด้วย ตัวอย่างรถเบ็นซ์ใครก็รู้ว่าดีแต่มีคนมาขายให้เรา 20 ล้านบาท คงไม่มีใครซื้อเพราะสามารถไปซื้อป้ายแดงที่ราคา 3-4 ล้านบาทก็ได้ แต่ถ้าซื้อของถูกมาก่อนเราสามารถขายต่อให้แพงขึ้นได้ถ้าหุ้นนั้นดีจริง...บทสรุปคือเราต้องรู้มูลค่าที่แท้จริงของกิจการให้ได้ (ไม่จำเป็นต้องเหมือนนักวิเคราะห์)

เขาให้ข้อสังเกตว่าหุ้นแต่ละกลุ่มจะมีค่าพี/อี เรโชที่เหมาะสมต่างกัน หุ้นที่ "หาเช้ากินค่ำ" คือทำธุรกิจไปเรื่อยๆ ควรจะมีค่าพี/อี เรโชที่ 5-7 เท่า แต่หุ้นที่ "เติบโต" ควรมีมากกว่านั้น ส่วนในภาวะ "วิกฤติ" ค่าพี/อี เรโชที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 3-4 เท่าถึงจะน่าลงทุน
คุณหมอย้ำว่าหุ้นที่ราคายุติธรรมมักจะไม่ใช่หุ้นตัวใหญ่ที่พวกนักลงทุนสถาบันกับนักวิเคราะห์จับตามอง แบบนั้นจะหาราคาถูกๆ ยาก หุ้นที่ Under Value อาจจะอยู่แบบรอดหูรอดตาเสมอ แต่ต้องระวังหุ้นสภาพคล่องต่ำไว้ด้วย

"พวกนักวิเคราะห์กับสถาบันเขายกหูคุยกับคุณประเสริฐ บุญสัมพันธ์ (ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ปตท.) ได้แต่รายย่อยอย่างเราทำไม่ได้อย่าคิดไปแข่งเลย แต่ขอให้ดูหุ้นที่มีสภาพคล่องการซื้อขายสักวันละ 2-3 ล้านบาทขึ้นไปไม่งั้นเข้าออกลำบาก"



ไม่เคยมีใครไม่ล้ม  ก่อนที่จะมารวยล้นฟ้าครับ

ประสบการณ์ จะสอนคุณเอง   ว่า  มันผิดพลาดเพราะอะไร  ส่วนตัว ผมไ้ด้แนวคิดจากพี่หมอ มาก

ในเรื่องการมองธุรกิจ   ขอบคุณพี่หมอ+ดร นิเวศน์ ที่ทำให้ผมมีวันนี้ได้

ผมจะถ่ายทอด เรื่องราวและประสบการณ์ที่ดีๆ รวมถึงความรู้ที่มี  ให้แก่คนรุ่นหลังๆ  เพื่อสืบทอดเจตนารมณ์ ของนักลงทุนยุคแรกๆๆ

ที่ว่า

การให้ที่ดีที่สุด  คือ  การให้ความรู้ในการลงทุน  และเป็นการให้ โดยยึดหลัก ให้รักษาเค้าเปรียบประหนึ่งญาติพี่น้องของเรา

แสดงความคิดเห็น
อ่านกระทู้อื่นที่พูดคุยเกี่ยวกับ  หุ้น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่